เลคเชอร์พี่แก้มแหม่ม ภควัตคีตา 26.04.65
ธรรมะแท้ๆ ในชีวิต ตามความเป็นจริงของโลก หากจะบรรยายให้เข้าใจได้เลย คงเป็นเรื่องยาก เพราะขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน แต่ถ้าเรามีโอกาสสนทนากัน ก็จะได้นำมุมมองมาถกกันเพื่อความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะกับชาวพุทธ เพราะเราชอบใช้คำว่า “ไปปฏิบัติธรรม” ซึ่งคอร์สปฏิบัติธรรมที่เป็นที่นิยมอยู่ทุกวันนี้มักเหมือนกับ tutor ที่ให้เรามีอะไรบางอย่างที่จับต้องได้ แต่ถ้าถามว่าลงไปลึกได้ถึงระดับไหน อาจจะไม่ลึกบรรลุถึงจุดหมายของการหลุดพ้นที่เราตั้งใจ และอาจยังทำให้เราไขว้เขวได้ เพราะส่วนใหญ่เพียงทำให้จิตเราใสสงบขึ้นได้ในระยะหนึ่งหลังการปฏิบัติแต่ละครั้ง คิดอะไรแหลมคมขึ้น แต่อาจจะกลับมาว้าวุ่นขุ่นมัวอีกได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ก่อกวนมากระตุ้น เพราะคอร์สต่าง ๆ ของการฝึกจิตเหล่านั้นมักไม่มีการสะสมความรู้เพื่อให้เกิดการเจริญทางปัญญาอันเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุธรรมเพื่อการหลุดพ้น จึงไม่ได้ช่วยให้ผู้เข้าคอร์สมีความก้าวหน้าในการบรรลุจุดหมายของการหลุดพ้น อาจเป็นเพียงเสมือนได้มีการพักร้อนทางจิตใจ แต่ยังไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาที่จะให้บรรลุธรรม
กลับมาที่ความเชื่อในการดำเนินชีวิตที่พากันนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน เราติดยึดกันมาว่าเราต้องเป็นคนดี คนดีต้องช่วยคนที่กำลังเดือดร้อนหรือมองดูน่าสงสารกว่า บางคนก็เข้าใจไปว่าผู้แพ้หรือผู้ที่ถูกกระทำคือผู้ที่น่าสงสาร เราพึงให้ความช่วยเหลือเพื่อแสดงว่าเราเป็น‘คนดี’ จึงกลายเป็นคุณสมบัติที่ถูกมองว่าคนไทยมีนิสัยชอบเข้าข้างผู้แพ้ (โดยไม่ใส่ใจในข้อเท็จจริงและหลักการความสงบสุขของสังคม) และอีกประการที่นิยมปลูกฝังกันคือ ‘เด็กดี’คือเด็กที่หัวอ่อนเชื่อฟังพ่อแม่ มีชีวิตอยู่เพื่อความสุขของพ่อแม่ รวมถึงหัวอ่อนเชื่อฟังครูบาอาจารย์และผู้ใดที่เป็นผู้อาวุโสกว่า (และในขณะที่พร่ำปลูกฝังคำสั่งคำสอนไปเช่นนั้น เราก็ยังได้เห็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางคนที่อดแอบชื่นชมเอ็นดูเด็กในห้องที่คิดนอกกรอบอยู่ไม่น้อย) ทำให้เมื่อเติบโตขึ้นมา เรามักมีภาพในใจว่าเราต้องคอยทำให้ผู้อื่นมีความสุข(ความพอใจ)เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็น‘คนดี’ ได้เป็น‘คนดี’ที่เขายกย่องกัน และ ‘เขา’นี้หมายถึงใคร? บางครั้งหมายถึงเทวดา บางครั้งหมายถึงพระพุทธเจ้า บางครั้งหมายถึงพระเจ้า ผู้ทรงอำนาจกว่า เช่นหัวหน้า หลวงพ่อ ลุงป้าน้าอาฯลฯ เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ เพื่อจะได้อภิสิทธิ์ เพื่อจะได้รับการปกป้อง ฯลฯ โดยไม่มีการปลูกฝังเรื่องของความเหมาะสมแห่งจริยธรรมและกาลเทศะ ซึ่งเป็นข้อคิดที่สำคัญยิ่งในการเติมเต็มความสมบูรณ์ของชีวิตและของสังคม จึงทำให้หลายชีวิตกลายเป็นเหยื่อและเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ เพราะถึงแม้ทำด้วยใจที่หวังดีหรือหวังเป็น ‘คนดี’ แต่จะไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนั้น ‘ในแง่ของการเจริญก้าวหน้า’
“เด็กดีต้องเชื่อฟังพ่อแม่” กลายเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้กันทุกบ้าน แล้วถ้าพ่อแม่ติดพนัน ขายยาเสพติด ประสบความสำเร็จมาได้เพราะโกง ฉ้อฉล หรือพ่อแม่เองก็เป็เหยื่อมาอีกต่อเช่นกัน แล้วสูตรสำเร็จในการเป็นคนดีเช่นนี้จะช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าหรือความสำเร็จที่อยากไขว่คว้าได้ใช้ได้จริงหรือ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองรู้จักใช้วิจารณญาณในการจัดการก็อาจถูกสังคมแบบนี้ตราหน้าว่า “...อ้ายคนนี้ งก เค็ม ใจดำ เป็นพวกคนใจบาป ฯลฯ” ก็อาจเกิดความลำบากใจได้เนือง ๆ เหมือนตัวเองคือผู้กระทำผิด เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่หลาย ๆ คนต่างคงเคยพบเห็นมาไม่น้อย เมื่อได้ฟูมฟักลูกน้อยมาแบบนี้ เมื่อลูกน้อยโตขึ้นมากลับมีความรู้สึกผิดหวังในตัวเขาอยู่เนือง ๆ บ้างก็ว่าทำไมช่างไม่ทันคนเอาซะเลย บ้างก็ตำหนิลูกว่าทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ อุตส่าห์ส่งเสียให้เรียนสูง ๆ แต่กลับมาถูกสาว(ถูกหนุ่ม)หลอกอย่างหลงใหลขนาดนี้ได้อย่างไร [ทั้งนี้เพราะกลไกสมองส่วนการคิดพิจารณาถูกประคบประหงมจนฝ่อ เพราะไม่ได้ถูกใช้งานเท่าที่ควร
อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิต มันเป็นโจทย์ แบบฝึกหัด บทเรียน ของแต่ละชีวิต การเติบโตมาในสังคมที่สอนให้เราหัวอ่อน ต้องยอมคน ทำให้เราถูกสร้างขึ้นมาว่าต้องทำแบบนี้ จึงถือว่าเป็นเด็กดี ซึ่งกรอบนี้มาจำกัดความคิดของเรา เด็กในสังคมแบบนี้มักมีปัญหาในเวลาต้องทำการตัดสินใจ เพื่อความสะดวกสบายใจของผู้ใหญ่กว่า เราก็พยายามฟูมฟักให้ผู้อยู่ในอาณัติมีความหัวอ่อน ลืมไปว่า ‘เด็กดี’เมื่อเป็นลูกของเราก็พึงต้องอยากให้เป็น ‘เด็กเก่ง’ด้วย เพื่อเมื่อถึงเวลา เขาจะสามารถทะยานบินขึ้นฟ้าได้อย่างปลอดภัยอาจหาญและชาญชัย ดูแลตัวเองให้เจริญก้าวหน้าได้ดี ท้ายสุดจะได้รู้สักจัดสรรชีวิตกลับมาดูแลเราได้ด้วย .....ทั้งนี้ ในเมื่อในยุคนี้ของเราต้องเติบโตในสังคมเช่นนี้ เราก็อาจจะต้องมองให้ทะลุเพื่อสอนลูกหลานแบบนอกกรอบจากค่านิยมเดิม ๆ และถ้าเราเป็นนักการปกครอง ก็ควรหาทางเปลี่ยนแปลงปรับปรุง ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นเด็ก ๆทั้งหลายในปกครองก็จะเป็นได้เพียงพลทหารที่ดีที่รับฟังคำสั่งอย่างเดียว จะไปคาดหวังว่าวันหนึ่งลูกหลานเราคงมีวาสนาเป็นนายพลที่เก่งมีคุณภาพ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูลคงจะยาก แม้เพียงแค่เป็น ‘นายร้อยนายพันที่ดีและเก่ง’ ก็อาจไกลเกินฝัน
นอกจากนี้ หากบอกว่า ‘คนดี’ ต้องเชื่อฟัง หัวอ่อน ยอมคน ช่วยเหลือคน เราจะมีคุณค่าได้ต้องทำแบบนี้ ๆ จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘คนดี’ ‘คนดี’ต้องห้ามโกรธ ไม่โลภ ไม่หลง เป็นเงื่อนไขที่สร้างกันมา ซึ่งยากจะทำได้ เมื่อเกิดแนวคิดที่จะตะกายสู่การเป็น ‘คนดี’ในสายตาของสังคม จึงเกิดคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างกรงจำจองขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นการสร้างภาพ ว่าฉันไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง จึงยิ่งทำให้เนิ่นช้าในการบรรลุธรรมไปอีกระดับหนึ่ง แต่ในเมื่อเราเกิดมาในสิ่งแวดล้อมนี้ สิ่งเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นโจทย์ให้เราหาวิธีในการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาตัวเองสู่การหลุดพ้น
อย่างไรก็ตาม ชีวิตเกิดมาเพื่อวิวัฒนาการ ตามตำนานมีคำกล่าวว่า บางชาติเราเกิดเป็นสัตว์ บางชาติเกิดเป็นคน ขึ้นอยู่กับว่าก่อนละจากสังขาร จิตเราคิดถึงอะไร แต่พี่แก้มแหม่มก็ยังเข้าไม่ถึง และไม่มีความลึกซึ้งเพียงพอที่จะรับหรือปฏิเสธ เช่น คนฆ่าหมู อยู่การกับฆ่า การเชือด การเฉือน ก่อนตายจิตจะฟุ้งซ่านกับสิ่งที่เคยชิน เราเคยสอนกันมาว่าวินาทีสุดท้ายเรานึกถึงอะไรเราก็ไปตรงนั้น คนในวาระสุดท้ายคิดถึงสิ่งที่ทำไม่ดีกับสัตว์ก็เลยไปเกิดเป็นสัตว์ แล้วสัตว์ล่ะ...พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก ต้องมีบุญมากอุปมาเหมือนเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ในทะเลที่ลึกและกว้างใหญ่ไพศาล ทุกๆ 100 ปี เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่หัวขึ้นมาจากทะเลครั้งหนึ่ง ในทะเลมีห่วงเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่าหัวเต่าหน่อยหนึ่งลอยอยู่ 1 ห่วง โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมาแล้วหัวสวมเข้ากับห่วงพอดียากเพียงใด โอกาสนั้นก็ยังมีมากกว่า การที่เหล่าสรรพสัตว์จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามชาตินี้มีโอกาสเกิดเป็นคนแล้วพยายามคอยสะสมบารมีไว้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด พระอาจารย์พี่แก้มแหม่มมีอุปนิสัยหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเวลาจาม เวลาเรอ แม้เวลาหาว ฯลฯ ท่านจะออกเสียงเป็นชื่อของพระเจ้าเสมอ เช่น ราม ราม ราม... หรือ ฮาริ ฮาริ ฮาริ... หรือ โอมมมมม เป็นต้น ท่านมหาตมคานธี ท่านก็ฝึกอุปนิสัยเวลาจะเอ่ยหรือจะสบถ เสียงที่เปล่งออกมาจะเป็น “ฮะเร ราม ราม ราม ....”เสมอ ณ เวลาที่ท่านถูกคนร้ายรอบยิงท่าน ทันใดนั้น ท่านก็เปล่งเสียงออกมา ฮะเร ราม ราม ราม....จนสิ้นชนม์ ทำให้วินาทีสุดท้ายของจิตคือการคิดนึกถึงพระรามซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยคุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ธรรมเนียมโบราณของคนไทยก็ปฏิบัติกัน เช่นเวลาตกใจ หรือทำของตกหล่น เรามักจะอุทาน “คุณพระช่วย” “อุ๊ยตาเถรตก” เป็นต้น สมัยเด็ก ๆ ไม่เข้าใจ เคยคิดรังเกียจว่าฟังดูหยาบคาย เพิ่งมาเข้าใจและชื่นชมว่านี่คือภูมิปัญญาไทยอีกอย่างหนึ่งในการฝึกจิต เพื่อเมื่อถึงวาระสุดท้ายขณะที่ไม่รู้สึกตัวในเวลาเกิดจุติ จิตในขณะนั้นจะไม่อยู่ในบังคับบัญชา จิตจะคิดถึงคุณพระคุณเจ้าด้วยความคุ้นชินของจิต เพื่อจะได้ไปปฏิสนธิในแดนสุคติภูมิ ของชาวตะวันตกก็เช่นกัน อะไรๆ ก็อุทาน “My God!” “Oh God!” “Jesus!” ฯลฯ
คำสอนในศาสนาต่างๆ ก็มีทั้งสองแนว แนวหนึ่งคือมุ่งตรงที่สัจธรรมที่พยายามให้คนเห็นความจริง อีกแนวเป็นอุปมา อุปมัย ที่ต้องการให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นแก่นคำสอน จึงต้องใช้ตัวอย่าง แม้กระทั่งตัวอย่างที่พระพุทธองค์ทรงสอน บางส่วนที่ท่านยกมาจะเป็นเรื่องราวในชาดกต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตชาติต่าง ๆ ของท่าน หรือว่าเป็นเพียงเรื่องที่พระองค์ท่านนำมาเล่าเป็นเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ในการสั่งสอน ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงคำสอน หรือเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงสิ่งที่ที่ต้องการให้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงประการใดก็ตาม ทุกนิทานในชาดกล้วนทรงพลังมีอานุภาพทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดดวงตาเห็นธรรมได้
ใน “ภควัตคีตา” เมื่ออรชุนมีคำถาม พระกฤษณะก็บอกว่าให้อรชุนทำหน้าที่ต่อไป ก่อนจะมาถึงจุดที่จะมีประกาศสงคราม ระหว่างกลุ่มพี่น้อง 101 คนของฝ่ายเการพ และพี่น้อง 5 คนของกลุ่มปาณฑพ เดิมที พี่น้องปาณฑพ 5 คน คือผู้ ที่มีสิทธิ์ครองบัลลังก์ แต่กลุ่มเการพใช้กลโกงหลายอย่าง ด้วยความที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ เพื่อให้กลุ่มของตนครองบัลลังก์ สถานการณ์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนดีเจอคนโกงที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม การรักษา “ความเป็นคนดี” ต่อไปนั้นเป็นเรื่องศิลปศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบ ในที่สุดจึงต้องประกาศสงคราม ซึ่งทำให้ผู้เป็นหลานต้องประหัตประหารกับปู่แท้ๆ ของตนในท้ายที่สุด
พี่แก้มแหม่มเท้าความให้ทราบถึงความเป็นมาของสงครามที่ทุ่งคุรุเกษตร
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ท้าวศานตนุ พระราชาแห่งกรุงหัสตินาปุระ มีชายาเป็นพระแม่คงคา มีบุตรด้วยกัน 8 คน หนึ่งในนั้น คือ “เจ้าชายเทวพรต” (ภีษมะ) ต่อมาท้าวศานตนุได้ไปเจอกับนางสัตยาวดี บุตรสาวของชาวประมงผู้มีกลิ่นกายหอม จึงอยากได้นางมาเป็นชายา ชาวประมงจึงบอกว่าจะยกลูกสาวให้ ต่อเมื่อท้าวศานตนุให้สัจจะวาจาว่า บุตรที่เกิดจากนางสัตยาวดีเท่านั้นจะได้เป็นผู้ครองบัลลังก์
เจ้าชายเทวพรต พระโอรสของท้าวศานตนุ จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อฟ้าดินว่าตนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับบัลลังก์ และประพฤติตนเป็นพรหมจรรย์สืบไป ซึ่งเป็นการเสียสละอย่างยิ่ง บัดนั้นเอง ก็เกิดฟ้าร้องครืน มีเสียงคำรามว่า “ความยิ่งใหญ่ในการเสียสละของเจ้า เจ้าจะมีชีวิตอยู่เป็นนิรันดร์ ตราบใดที่เจ้าไม่อยากตาย จะไม่มีใครสามารถสังหารเจ้าได้”
ท้าวศานฺตนุ อภิเษกสมรสกับพระนางสัตยาวดี บุตรสาวชาวประมง ให้กำเนิดบุตรสองคน คนแรกคือจิตรางคทะ ซึ่งหลังจากขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาท้าวศานตนุได้ไม่นาน ก็เสียชีวิตในสงครามสู้รบกับคนธรรพ์ซึ่งเป็นชาวสวรรค์จำพวกหนึ่ง ราชบุตรอีกองค์ชื่อ“วิจิตรวีรยะ”จึงเป็นผู้ได้สืบราชสมบัติแทนเชษฐาเนื่องจากยังเยาว์วัย ภ๊ษมะผู้เป็นพี่จึงช่วยดูแลราชการในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ 2 พี่น้อง คือ อัมพิกา และ อัมพลิกา ทว่าภายหลังสิ้นพระชนม์ลงโดยไม่มีโอรสสืบทอดบัลลังก์ ภีษมะพี่ชายต่างมารดา จึงต้องเชิญฤษีวยาส(ซึ่งเป็นบุตรของนางสัตยาวดีกับฤาษีปราศร) มาทำพิธีนิโยคเพื่อให้ 2 พระนาง มีโอรสสืบราชบัลลังก์
• ลูกของนางอัมพิกา + ฤาษีวยาส = ท้าวธฤตราษฎร์ (ตาบอด) ซึ่งเป็นต้นตระกูลเการพ
• ลูกของนางอัมพาลิกา + ฤาษีวยาส = ท้าวปาณฑุ (ตัวขาวซีด อ่อนแอ) ต้นตระกูลปาณฑพ
• สงครามที่ทุ่งคุรุเกษตร เป็นการทวงบัลลังก์ ของตระกูลปาณฑพ ซึ่งมีเหตุให้ต้องไปอยู่ป่า เมื่อต้องการบัลลังก์คืน จึงต้องมารบกับฝ่ายเการพ ซึ่งมีท่านปู่ภีษมะ เป็นผบ.สูงสุดของกองทัพ หากอรชุน ต้องการจะทวงบัลลังค์คืน จึงต้องมารบกับปู่ของตัวเอง
พี่แก้มแหม่มเล่าว่าในภควัตคีตา มีโศลกแต่ละบท แต่ละหัวข้อสามารถคุยได้เป็นวันๆ
ดังนั้น ในโศลกบทที่ 2 โฉลกที่ 20-25 พระกฤษณะสอนว่า “เราไม่ใช่ร่างกาย จิตเดิมแท้อยู่ข้างใน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ถึงเวลาแล้วก็ต้องเปลี่ยน” มันขัดแย้งกับความกตัญญูที่สอนต่อๆ กันมา ว่าเราต้องเคารพผู้ใหญ่ อรชุนยิ่งรู้สึกสับสนเมื่อต้องประหัตประหารกับผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของตน
หากเปรียบกับตัวเรา “สงครามทุ่งคุรุเกษตร” คือ ร่างกายของเรานั้นเอง ส่วนบนคือ ฝ่ายธรรม ส่วนล่างเป็นฝ่ายอธรรม อรชุนเปรียบได้กับจักระที่สาม คือ Sola Plexus พี่แก้มแหม่มมองว่าพระกฤษณะ คือ จิตเดิมแท้ในสภาวะของจิตสูงสุดซึ่งสามารถปรากฏสภาวะการมีสติ(การรู้ตัวทั่วพร้อม) เมื่อไรก็ตามที่จิตของเราถึงกาลที่ยอมศิโรราบเพราะอยากออกจากทุกข์จากสังสารวัฏฏ์เห็นโทษของความโลภโกรธหลงจนสภาวะเหล่านี้ไม่สามารถมีบทบาทมาบงการตนอีกต่อไป จิตจะเกิด สติ คือสภาวะที่มีพระกฤษณะ(จิตเดิมแท้ในระดับของจิตสูงสุด)ปรากฏช่วยคุมบังเหียรแห่งอายตะทั้ง 5 ของเรา และเกิดปัญญาแห่งอริยมรรค เท่าทันสัจธรรมแห่งกิเลสและบทบาทของเจตสิกต่าง ๆ จนหลุดพ้นทุกข์ได้ในทีสุด
ร่างกายของเรา คือ สนามรบ กิเลสที่เราติดข้องต่างๆ คือ ญาติโยมของเรา ไม่ว่าเราจะติดข้องกับอะไรก็ตาม บุหรี่ เหล้า ของหวาน คำชมเชย ความอยาก ความอิจฉาริษยา ความกลัว ความเครียด ความชอบ ความรังเกียจ ฯลฯ แล้วอยู่ๆ มีคนมาบอกว่าให้ตัดสิ่งเหล่านั้น ห้ามโกรธ ห้ามโลภ ของหวานไม่ดี บุหรี่ไม่ดี เหล้าไม่ดี กัญชาอย่าสูบ การติดแสงสีไม่ดี การเลือกที่รักมักที่ชังไม่ดี อาหารเค็มไปไม่ดี หวานไปไม่ดี ไอศกรีมไม่ดี ฯลฯ ในเมื่อเราคุ้นชินกับพฤติกรรมเหล่านี้ไปเสียแล้ว ถ้าให้ตัด ก็เหมือนตัดญาติของเรา แต่ถ้าเราต้องการความเจริญก้าวหน้า เราต้องยอมตัดสิ่งเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า สนามรบใหญ่ น้อย อยู่ในตัวเรานั่นเอง ไม่ต้องไปดูอื่นไกล ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และในที่นี้ บางคนอาจสามารถเดาได้แล้วว่า ความจริงแล้ว ท่านปู่ภีษมะผู้ได้รับประทานพรว่า ตราบใดที่ท่านปู่ภีษมะเองไม่ปลงใจที่จะกระทำกาลกิริยา ตราบนั้นจะไม่มีใครสามารถประหัตประหารท่านปู่ภีษมะให้สิ้นชีพได้ ความจริงแล้วหมายถึงอะไร ?
พิจารณาให้ถ่องแท้ หากร่างกายเราคือสนามรบแห่งธรรมะและอธรรม จะเห็นว่าชีวิตท่านปู่ภีษมะ มีชีวิตเหมือนทิฐิมานะแห่งตัวกูของกู คอยคุ้มครองดูแลด้วยความเอื้ออาทรในทุกข์สุขและปกป้องเราจากการรุกรานทำร้ายตัวตนของเรา ถ้าดูอย่างถ่องแท้จะเห็นว่าตัวตนของเราคือสิ่งเดียวในโลกที่ไม่มีใครจะสามารถทำลายได้ เป็นสิ่งเดียวในโลกที่ยิ่งถูกทำร้ายกลับยิ่งจะแกร่งมีพลังยิ่งขึ้น ได้อย่างน่ากลัวทีเดียว จนเมื่อไรที่ตัวตนเริ่มมีความสลดจากการเห็นสัจธรรมถ่องแท้มากขึ้น มากขึ้น เมื่อนั้นตัวตนหรือทิฐิมานะนี้จะปลงใจละสลายไปด้วยตัวมันเอง
พระกฤษณะกล่าวว่า หากเรามีหน้าที่ต้องไปรบ เราก็ต้องทำหน้าที่นั้นไป แต่เราไม่ได้ฆ่าเพราะความมันส์ หรือเกียรติยศ การเป็นวีรบุรุษ เปล่าเลย สิ่งสำคัญคือเราทำตามหน้าที่ของเรา ไม่ว่าหน้าที่นั้นจะมองดูว่าไม่ดี เช่น เพชฌฆาต ศาลสั่งว่าต้องประหารชีวิตนักโทษ แต่เพราะว่า เขาได้รับทำหน้าที่เป็นเพชฌฆาตแล้ว เขาก็ต้องทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด ด้วยความซื่อตรงต่อหน้าที่ เขาอาจต้องฝึกฝนการฆ่าอย่างมีฝีมือ อย่างนี้ไม่มีบาปที่ต้องใช้กรรม แม้ว่าเขาจะไม่ต้องใช้กรรมจากบาปจากการทำตามหน้าที่ แต่ทุกการกระทำนั้นมีผลต่อเราทั้งสิ้น ถึงจะทำหน้าที่แต่กริยานั้นก็มีน้ำหนักอยู่ดี ซึ่งสามารถสร้างความหยาบให้กับจิตใจเรา ทำให้จิตได้รับมลทินของอกุศลกรรมติดตัวระดับหนึ่ง อาชีพที่ไม่มีอกุศลธรรมใด ๆ เลยคืออาชีพครู หรือพราหมณ์ นอกนั้นล้วนมีอกุศลธรรมไม่มากก็น้อย สามารถดึงเราให้ต่ำลง อย่างเช่น อาชีพฆ่าสัตว์ ก็ทำให้จิตใจของเราขุ่นมัว และตกต่ำ หรืออาชีพทหาร ที่ต้องไปฆ่าคู่ต่อสู้ อาจไม่มีบาปก็จริง แต่วิบากจากการปลิดชีวิตหรือทำร้ายศัตรูของชาติอาจไปซ้ำเติมให้จิตใจหยาบกระด้างได้ แต่การหนีทหารเป็นการละทิ้งหน้าที่ อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อส่วนรวม อาจเป็นเหตุให้เกิดการรุกรานเข่นฆ่าชนในชาติของตนอย่างมากมายยิ่งกว่า การละทิ้งหน้าที่นี้ย่อมทำให้มีบาปยิ่งกว่า
มีหลายบทที่พระกฤษณะแนะนำอรชุน บางคนมีจิตเดิมแท้ที่สามารถมองเห็นธรรมะ ก็จะมีสติ สัมปชัญญะ อันเกิดจากการมองข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา อย่างเช่นดอกไม้ คือ วัตถุที่หน้าตาเป็นเช่นนั้น เราต่างหากมาบัญญัติชื่อนั้น ชื่อนี้ สีนี้ สวย สีนี้ ไม่สวย ดอกนี้มีกลิ่นหอม ดอกนี้ไม่หอม ฯลฯ กลายเป็นว่าเรามาเพิ่มคุณค่า อย่างปาท่องโก๋ในปัจจุบัน ใส่กล่องสวยงาม จริงๆ แล้ว คนก็ซื้อเพราะปาท่องโก๋ข้างในอยู่ดี ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น เหลือแค่ โปรตรอน อิเล็กตรอน ซึ่งตอนนี้ไปถึงควอนตัมแล้ว แล้วอย่างไรล่ะ คือสิ่งที่เราจะรักษาสมดุลให้ตัวเราได้ เราดูได้จากสิ่งที่เราทำแล้วเป็นกุศล ทำให้กว้างขึ้น ตัวตนน้อยลง จางลง เมื่อมองด้วยสายตา เราอาจมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของกันและกัน แต่เมื่อมองลึกลงไปจริง ๆ เราต่างเป็นอณูของพระเจ้า คำสอนแบบนี้มักไม่มีใครมาเน้นย้ำแต่จะเน้นไปที่การเชื่อฟัง ยอมตาม ซึ่งหากเข้าใจเราจะเป็นอิสระมากขึ้น เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ยังคงกินของอร่อยได้ แฮ้ปปี้กับทุกอย่างได้โดยไม่ติดข้อง เหมือนดอกบัวเหนือน้ำที่ออกมาจากโคลนตม เมื่ออยู่ในโลกนี้ก็อยู่เต็มที่อย่างมีความสุข รักครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ ชื่นชมซึ่งกัน ประคับประคองให้ทุกคนมีความเจริญก้าวหน้า มีความเข้าใจว่าทุกคนรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเอง
แต่ถ้าเราไปติดข้องเกินตัว แทนที่อาหารเป็นสิ่งนำมากินเพื่อให้ดำรงอยู่ แต่เรากลับกินเพื่อความอร่อย(ความติดข้อง) ดังนั้น ทุกอย่างในโลกนี้หากมีใครมาสอนว่า ธรรมะหรือการปฏิบัติธรรมต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้เท่านั้น ถึงจะถูกต้อง ส่วนตัวพี่แก้มแหม่มจะไม่เห็นด้วย เพราะธรรมะเป็นอัตตาหิ อัตโนนาโถ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เราเป็นปัจเจก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา สิ่งที่เราได้ยินเราเข้าถึงขนาดไหน เป็นกุศล หรือ อกุศล เมื่อเราเข้าถึงแล้วตัวตนของเราเบาบางลง เท่ากับว่าเรากำลังเจริญก้าวหน้า บางครั้งผู้สอนพูดถูกได้ แต่ด้วยภูมิหลังที่แตกต่าง ผู้ฟังได้ยินแล้วอาจตีความผิดไม่ตรงกับที่ผู้สอนต้องการให้เข้าใจก็ได้ ในขณะเดียวกันผู้สอนเองเข้าใจไม่ถูกต้องสอนผิด แต่ด้วยผู้ฟังมีภูมิหลังที่เคยมีความเข้าใจที่ถูกตัองอยู่ก่อนแล้ว ตีความจากสิ่งที่ได้ยินได้ความหมายที่นำพาให้เกิดประโยชน์ทำให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างดี ก็มี
หากมองว่าโลกเป็นเส้นตรงเส้นหนึ่ง ฝั่งหนึ่ง อาจจะเปรียบได้กับขุมนรก ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา และอีกฝั่งหนึ่ง อาจจะเปรียบได้กับ “ความว่าง” คือ ไม่มีความติดข้องใดๆ หลงเหลืออยู่ แต่เราก็อยู่บนเส้นทางเดียวกัน ใช่หรือไม่ นั่นคือเราต่างเป็น God’s Particle เหมือนกันหมดเลย ในศาสนาพุทธก็ยังกล่าวว่า พุทธะอยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยสอนกัน เพราะถ้าเราได้รับการปลดปล่อย จากการยึดติด เราจะเริ่มมองเห็นความ “ไม่มีอะไร” ในตัวตนของเรา เพราะทั้งหมดเป็นการปรุงแต่งเอาไว้ เราก็จะเริ่มหลุด และจะปลงไม่ยึดติดเอง
ถามว่าการหาเงินเป็นสิ่งสำคัญหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าสำคัญ แต่ถามว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตหรือไม่ ประเด็นอยู่ตรงนี้ เราอยู่เพื่ออะไร อะไรที่มันคุ้มค่าที่สุด ที่เหลือเราก็ผสมผสานได้ เราต้องอยู่เหนือมัน ประหนึ่งดอกบัวที่อยู่เหนือโคลนตม ต่อให้ดอกบัวเติบโตจากโคลนตม แต่โคลนตมก็ไม่ได้ทำให้ดอกบัวลดทอนคุณค่า หรือลดความสวยงามลงไป
การพูดว่า “ทุกคนต้องมีความสุข” ค่อนข้างหมิ่นเหม่ อย่างน้อยเราประคับประคองให้เราเจริญก้าวหน้าก็พอ เพราะเราไม่สามารถรับผิดขอบความสุขของใครได้ หากเขาเลือกที่จะไม่มีความสุข เราก็ไม่สามารถบังคับเขาได้ นี่คือสิ่งที่สังคมครอบงำเรามาตลอด กลายเป็นเราเข้าใจว่าต้องพยายามช่วยให้คนๆ นั้น พ้นทุกข์เพื่อเขาจะได้มีความสุข ด้วยการช่วยเหลือเขา พอเขาแสดงออกว่าทุกข์ เราต้องไปช่วยเหลือ รับผิดชอบบางปัญหาแทนเขา เพื่อหวังว่าเขาจะได้มีความสุข ถ้าเขาไม่เป็นคนมีความปรารถนาที่ไม่รู้จักพอ หรือเป็นคนทำตัวเรียกร้องจากชีวิตด้วยความทะเยอทะยาน ฯลฯ ก็จะเห็นเราจะทุ่มเทช่วยเหลืออย่างไรก็เติมไม่เต็ม แต่เราถูกสอนให้ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือให้เขาไม่ต้องทุกข์ใจ ซึ่งจริงๆ แล้วระดับของความสุขความทุกข์ขึ้นอยู่กับระดับปัญญา เหตุปัจจัยจากสัญญา (data bank) กิเลสตันหาที่ได้ก่อตัวสะสมอยู่“ภายใน” ดังนั้น”ความสุขที่แท้จริง”จึงไม่ใช่สิ่งภายนอกที่ใครจะซื้อหามาจาก 7-11 หรือห้าง Louis Vuittong มาให้กันได้
คุณแป๋ว : “ไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบความสุขของคนอื่น กลายเป็นว่าเราต้องทุกข์” ขอให้พี่แก้มแหม่มอธิบายเพิ่ม
พี่แก้มแหม่ม : ยกตัวอย่าง ที่พ่อแม่ มักนิยมปลูกฝังมาว่า ลูกฉันต้องเรียนดีนะ เพื่อให้พ่อแม่มีความสุข ดังนั้น ตั้งแต่เด็กไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ก็จะบอกว่าต้องเป็นเด็กดี เรียนดี เพื่อพ่อแจะมีความสุข จนแม้กระทั่งเข้าระดับอุดมศึกษาแล้ว เวลาถามนักศึกษาว่าทำไมถึงมาเรียนคณะนี้? นักศึกษาหลายคนจะพากันตอบว่า เพราะพ่อ แม่ อยากให้มาเรียน นี่เป็นเรื่องที่เสียหายอย่างมากสำหรับอนาคตของเด็กๆ ในเมืองไทย ถ้าเด็กๆ เรียนเพื่อให้พ่อแม่มีความสุข ไม่ได้เรียนเพราะอยากมีความรู้ ความที่ถูกปลูกฝังมาว่าต้องทำทุกอย่างให้พ่อแม่มีความสุข เพราะนั่นคือหน้าที่ของ ‘เด็กดี’ ผลลัพธ์ที่ตามมาที่พบอยู่บ่อย ๆ คือ หากผู้เป็นลูกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือชีวิตประสบปัญหา สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือการโทษพ่อแม่และผู้อื่น ทั้งหงุดหงิดทั้งขาดความเคารพและเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง พ่อแม่บางคนก็ใช้วิธีด่าซ้ำโทษลูกหรือผู้อื่นอีกต่อโดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข พ่อแม่บางคนก็พยายามโอ๋พยายามช่วยปกป้องปกปิดเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้... (คราวนี้พ่อแม่กลับเป็นผู้ต้องพยายามทำให้ลูกมีความสุข โดยที่ปัญหาไม่ได้รรับการแก้ไขจริงเช่นกัน) ต่อไปปัญหาเหบ่านี้ก็อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาได้ แต่จริงๆ แล้ว หากเราปลูกฝังลูกหลานเสียใหม่ ให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่าการเลือกเรียนแต่ละสิ่งมีเหตุผลเพื่อประโยชน์จากความจำเป็นอะไร อธิยายให้ของเขาเข้าใจชีวิตจริง และเข้าใจตนเอง พ่อแม่จะได้ช่วยชี้แนะโดยที่ความคิดของเขาเองได้รับการรับรู้และใส่ใจ การเข้าไปศึกษาเล่าเรียนก็จะมีชีวิตชีวา รู้ว่ามาเรียนทำไม เพื่ออะไร และควรขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องอะไรดี [ในโลกปัจจุบัน ด้วยสภาวะความรีบเร่ง และการแข่งขันในการอยู่รอด ลูก ๆ มักต้องถูกเลี้ยงด้วยสูตรเร่งลัด ให้งอมืองอเท้า รวมถึงจำกัดการใช้กลไกสมองในส่วนตรรกะคิดพิจารณาและตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องเสียเวลากับความผิดพลาด พ่อแม่หาทางคิดล่วงหน้าให้ เตรียมแผนและทำให้ทุกอย่าง ลูกมีหน้าที่คอยจดจำและใช้ความคิดกับโจทย์การบ้านที่ให้มา เด็กที่มีความคิดนอกกรอบอาจสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ และถูกปิดฉลากว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กไม่ดี ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่กตัญญูเพราะไม่รับรู้ความเหนื่อยยากของพ่อแม่] ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะความรู้ไม่เท่าทันระบบต่าง ๆ ที่กำลังมีอิทธิพลครอบงำทุกชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ตัว ในขณะที่พ่อแม่ทั้งหลายกำลังพยายามทำดีที่สุดแล้ว และด้วยความไม่รู้ตัว ลูก ๆทุกคนเองก็กำลังพยายามทำอย่างดีที่สุดตามความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาเช่นกัน ในการต้องอยู่รอดด้วยการขับเคลื่อนตามกระแสที่ยิ่งมาก็ยิ่งเชี่ยวเช่นกัน มองในด้านการเจริญเติบโตก้าวหน้านั้นจะกลายเป็นสูตรสำเร็จของการย้อมใจให้อ่อนข้อต่ออำนาจไหม?
พี่แก้มแหม่มยกตัวอย่างเด็กที่ชอบเล่นไวโอลินด้วยความรัก และพรสวรรค์ แต่ผู้ใหญ่กลับเอาความปรารถนาส่วนตัวไปคาดหวังใส่ไว้บนบ่าเด็ก อยากให้เด็กไปประกวด เป็นความกดดันให้เด็กเล่นไวโอลินเพื่อสนองความปรารถนาของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เล่นเพราะชอบหรือมีความสุขจากการเล่น หลังจากนั้นไม่นานพอเด็กคนนี้เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เขากลับกลายเป็นคนเกลียดไวโอลินเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ยอมแตะและไม่อยากเห็นมันอีกเลย ทั้งหมดนี้มาจากค่านิยมของสังคมที่กลายเป็นกระแสขึ้นมาครอบงำเรา เด็กรุ่นหลังๆ เลยเป็นเหยื่อของระบบการศึกษา และการแข่งขันเพื่อให้เรียนดีกว่าเพื่อน แต่ไม่เห็นปลายทางว่าเรียนไปเพื่ออะไร มันก็คือเรียนไปเพื่อให้พ่อแม่มีความสุข แต่ถ้าเด็กเรียนเพื่อเอาความรู้ เขาจะเรียนอย่างมีความสุข ไม่ใช่พยายามเรียนเพื่อเอาหน้ากับพ่อแม่
อะไร คือ ธรรมะ
พระกฤษณะสอนว่า การหลุดพ้นจากการติดข้องทั้งหลาย ทำได้ด้วย “การรักพระเจ้า” เป็นการยก Resonance ความถี่ของเราขึ้นไปสูงๆ(ด้วยความรูสึกตัวทั่วพร้อมถึงคุณสมบัติอันสูงส่งต่าง ๆ ของพระเจ้า ทำให้จิตของเราไม่ตกต่ำ อีกเรื่องคือ “การมีปัญญา” การสวดมนต์ก็เป็นเหตุ ปัจจัย ให้เราหลุดพ้นจากการติดข้องได้ง่ายขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจว่า เรามีตัวตนที่มีร่างกายอยู่ แต่เราสามารถเข้าถึงสิ่งนี้อีกระดับ โดยไม่จำเป็นต้องติดข้อง เหมือนกับ สตีฟ จ๊อบส์ ที่เพิ่งมาเห็นในช่วงนาทีท้ายๆ ของชีวิต ว่าเขาได้ใช้พลังงานทั้งหมด ไปกับการปกป้อง หน้าตา ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ (ซึ่งล้วนเป็นค่านิยมภายใต้โลกบัญญัติ) ท้ายที่สุด มันไม่มีความหมายอะไรเลย ในทางกลับกัน หากเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลก ด้วยการทำ “หน้าที่” โดยปราศจาก “ความติดข้องในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเหล่านั้น” การเดินทางในชีวิตที่ผ่านมาของเขาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ชีวิตเขาจะเต็มไปด้วยปิติสุขจากการสะสมบารมีด้วยกุศลกรรมทั้งหลายจากความทุ่มเทของเขา
การสวด Geeta Path เพื่อสะสมบารมีในการเจริญปัญญา และเหตุปัจจัยในการยกระดับคุณภาพของความนึกคิดและจิตใจ จนมีปัญญาหยั่งรู้ จนเกิดสติรู้เท่าทันสภาพธรรมะแต่ละขันธ์ ปัญญารู้ตรงตามความเป็นจริง จนเกิดความเบื่อหน่ายจนหลุดพ้นจากการติดข้อง สามารถละสภาพวะธรรมะนั้นๆในแต่ละขันธ์ จากปัญญาที่รู้เท่าทันทั้งในระดับกายและจิต สามารถใช้ชีวิต หลุดพ้นจากการติดข้องอย่างมีความปิติสุข และอย่างทรงพลัง จนถึงวินาทีสุดท้ายที่เราใช้ชีวิตอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์
ความเป็นไปของสัทธรรม
การกระทำเดียวกัน ให้ผลเดียวกัน อาจจะไม่เหมือนกัน อย่างเช่น พระนเรศวร ทำหน้าที่กอบกู้เอกราช การไปออกรบ ชนะสงคราม จึงเป็นกุศล เพราะพระองค์ทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้ทำเพื่อให้พระองค์ยิ่งใหญ่ เมื่อเทียบกับ อเล็กซานเดอร์ the great ทำการรบขยายอาณาจักรแผ่ไพศาล แต่ถ้าเขาตีไปเรื่อย ๆ ด้วยความโลภ ย่อมเป็นอกุศลกรรม เพราะเป็นเจตนา ดังนั้น คำว่า “กรรม” ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่า เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เหมือนอรชุนพูดคำหนึ่งว่า “จิตของเราช่างดื้อดึง เช่นเดียวกับลมที่ไม่อาจจะบังคับได้”
ทุกอย่างที่อยู่ในโลกนี้ ประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ระดับ คือ ระดับเทพ ระดับมนุษย์ ระดับเดรัจฉาน สิ่งนี้สะสมเป็นข้อมูลใน Data Bank ของเรา การที่เราต้อง control ตัวเอง ฝืนนิสัย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น สตีฟ จ๊อบส์ มี Drive ที่อยู่ในจิตใต้สำนึก ที่เขาต้องสร้างสิ่งที่ใหม่ขึ้นมา เช่น มันต้องเกิด iPod , IPad โลกก็ได้เสวยผลจากประดิษฐกรรมของเขา ส่วนการที่เขาต้องทำเพื่อชื่อเสียง เงินทอง การเอาชนะ ก็กลายเป็นตัวถ่วงความสุขของเขาเอง เหมือนกันกับที่เราต้องหาเงิน เราสามารถ compromise ได้มั้ย เราจำเป็นต้องทิ้งตำแหน่ง หน้าที่โอกาส แล้วทุ่มเททั้งหมดให้กับสิ่งที่เป็นความกระหายที่เราสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กหรือไม่ มันคุ้ม หรือ ไม่คุ้ม กับเวลาที่เหลืออยู่จากวันนี้ จนถึงวาระสุดท้าย เราจะแบ่งสันปันส่วนอย่างไร กับชีวิตที่เหลืออยู่แล้วใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ของการทำหน้าที่ของสิ่งนั้น ๆ เช่น เกิดมาเป็นเพชฌฆาต ก็ต้องทำหน้าที่เพชฌฆาต หน้าที่ของ “น้ำตาล” คือ การให้ความหวาน ธรรมะชอง “เกลือ” ก็คือ ความเค็ม ฉะนั้น เราก็ต้องหาธรรมะของเราให้เจอ ธรรมะของผู้เป็นแม่ก็ต้องดูแลให้ลูกเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างสวยงามและทรงพลัง ตามเผ่าพันธุ์ที่เขาควรเป็น แม่มีหน้าที่ฟูมฟักลูกให้เติบโตตามที่เขาอธิษฐานจิตขึ้นมาเกิด ให้เขาเติบโตอย่างดีที่สุด
มีฤาษีตนหนึ่ง บำเพ็ญตบะมาเป็นเดือนๆ มีวันหนึ่งนกบินผ่าน แล้วขี้ใส่ ฤาษีตาไฟมองหานก นกก็ถูกเผาผลาญเป็นจุน ท่านจึงเพิ่งรู้ว่าท่านมีอภิญญา มาจากการบำเพ็ญตบะ ที่ประเทศอินเดีย เวลาที่นักบวชมาถึงบ้าน ต้องเอาข้าว เอาน้ำมาต้อนรับเป็นอย่างดี ถือเป็นหน้าที่ ยกเว้นบ้านหลังหนึ่ง มีลูกสาวที่กำลังดูแลพ่อแม่อยู่ พอท่านฤาษีตาไฟมาถึง นางก็ยังไม่ออกมาต้อนรับขับสู้ ฤาษีเกิดมานะทิฐิ และมีความโกรธ เมื่อมองไปที่ผู้หญิงคนนี้ ผู้หญิงคนนี้บอกว่า ท่านอย่าคิดว่าฉันจะเหมือนกับนกตัวนั้น ฉันมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ก่อน เสร็จแล้วจึงมาดูแลท่าน ฤาษีก็ตกใจว่าทำไมหญิงธรรมดา จึงมีความหยั่งรู้ได้ ไปเรียนมาจากไหน ผู้หญิงคนนั้น บอกว่า เรียนมาจากคนๆ หนึ่ง ด้วยความติดข้องในใจ ฤาษีจึงไปที่บ้านหลังนั้น ปรากฏว่าคนที่นางพูดถึง เป็นเพียงคนขายเนื้อหมู ฤาษีจึงปรามาสว่าแค่คนขายเนื้อสัตว์ จะมีธรรมะสูงได้อย่างไร นิทานเรื่องนี้สอนว่า แม้เขาจะเป็นแค่คนขายหมู ก็สามารถอิสระจากการทำหน้าที่ และบำเพ็ญบารมี จนเกิดอภิญญาได้ มีความสุขด้วยการทำหน้าเป็นลูกที่ดีในการดูแลคววามสบายกายสบายใจของพ่อแม่ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นผู้ขายเนื้อสัตว์ที่ดี อย่างไร้ตัวตน
ความไม่ชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นมีผลต่อระบบองค์รวมของประเทศได้เลย เป็นเหตุทำให้ประเทศก้าวหน้าได้เล็กน้อยแล้วก็ต้องถอยหลัง
คุณแป๋ว : อุทาหรณ์จากเรื่องของสตีฟ จ๊อบส์ การแสวงหา ใดๆ มันคุ้มหรือเปล่า
พี่แก้มแหม่ม : คุณเจี๊ยบเสริมว่า สตีฟ จ็อบส์ คืออรชุนที่ยังไม่ได้พบพระกฤษณะ ซึ่งขาดโอกาสที่จะเข้าใจปัญญาทางธรรมให้ไม่เผาไหม้ตัวเองให้มอดไหม้ไปก็จริง แต่เขาก็ได้ทำหน้าที่ของเขาในทางโลก ซึ่งได้แก่การคิดค้นนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ พี่แก้มแหม่มมองเสริมว่า หากมองในภาพรวมของจักรวาล อาจจะมองว่าจักรวาลสร้างมาให้เขามาเปิดโลกนวัตกรรมให้กับมนุษย์ ด้วยความที่เขามีพรสวรรค์ มีความสุขในการทำตรงนี้ แต่เนื่องจากเขามีเหตุปัจจัยสะสมอื่นใน Data Bank ซึ่งทำให้เขามีความกระหายความสำเร็จ(ด้วยการเป็นผู้ชยะ และเป็นผู้นำในโลกแห่งการแข่งขัน) ต้องการสร้างชื่อเสียง ทะเยอทะยาน มีความเกลียดชัง ความโลภในการกอบโกยให้ได้มาซึ่งประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรต่าง ๆ รอบข้าง จนทำให้ในช่วงท้ายของชีวิต เขาได้รับบทเรียนและได้เห็นความเป็นไปของสัจธรรม ซึ่งก็เป็นบทเรียนล้ำค่าอย่างยิ่งในชีวิต
การกระทำเดียวกันให้ผลทางธรรมต่างกัน การชนะสงครามของสมเด็จพระนเรศวร ทรงสู้กับพม่าเพื่อกอบกู้เอกราช เป็นกุศลอย่างมาก เป็นหน้าที่ พระองค์ไม่ได้ทำเพื่อครอบครองตัวตน เพื่ออำนาจใด ๆ หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช ที่ครองชัยชนะไปทั่วทุกแคว้นแดนดิน หากเขาทำเพื่อชาติ ก็ได้กุศลกรรมอย่างหนึ่งแต่หากเขาตีประเทศต่าง ๆ ด้วยความโลภ อยากทำร้ายคนชาติอื่น ๆ ตามแรงกิเลส ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ชี้บ่งชัดถึงกุศลหรืออกุศลอย่างชัดเจน
ทุกอย่างในโลกนี้ มีหน้าที่หมด เช่น เซลล์ทุกตัวก็มีหน้าที่รับส่งกัน เพื่อให้เราเติบโต แต่เซลล์ก็ยังทำหน้าที่อย่างไม่มีตัวตน ถ้าหากสตีฟ จ๊อบส์ สามารถทำหน้าที่อย่างไม่มีตัวตน เขาสามารถบรรลุธรรมได้เลย แต่เขาทำสิ่งเหล่านี้เพื่อสนองกิเลสของเขา (เรานำเรื่องราวของคุณเรื่องสตีฟ จอบส์ มาวิเคระห์เพียงเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการทำความเข้าใจธรรมะ ทั้งนี้ก็ต้องระลึกด้วยว่าเรากำลังวิเคราะห์ตามข้อมูลเท่าที่เรามีโอกาสได้อ่านได้ฟังกันมาเท่านั้น เราไม่สามารถรู้ว่าในความเป็นจริงเรื่องราวจะเป็นอย่างที่ปรากฏจริงหรือไม่ หรืออาจมีข้อเท็จจริงอื่นอยู่เบื้องหลังที่ไม่ได้รับการเปิดเผย เราจึงวิเคราะห์ด้วยความเคารพเพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่กำลังเรียนรู้กันเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิ์ตัดสินหรือวิพากษ์วิจารย์ )
การทำหน้าที่โดยไม่ได้ตอบสนองตัวตน ขอยกตัวอย่างตอนที่พี่แก้มแหม่มรับใช้พระอาจารย์ ก็มุ่งมั่น ทำเพื่อประโยชน์สุขของท่านและงานของท่าน ไม่ได้หวังความเด่น ดัง อภิสิทธิ์ หรือการอื่นใด ๆ การดูแลท่านอย่างสุดความสามารถ เป็นหน้าที่ที่พี่แก้มแหม่มทำ และมาจนบัดนี้ เวลาลูกศิษย์ต่าง ๆ ที่เคยพบเจอพี่แก้มแหม่มในช่วงเวลานั้น ก็มักจะพูดคุยกันและกล่าวขวัญถึงด้วยความชื่นชม