ข้อขัดแย้งในชีวิตประจำวัน
Drama Triangle
พี่แก้มแหม่มเริ่มต้นที่ธรรมะเพื่อเข้าใจความขัดแย้ง โดยหยิบยกเอา Drama Triangle มาพูดถึง
โดยทั่วไปแล้ว ทุกคนอยากจะมีอำนาจ โดยสัญชาตญาณของการอยู่รอด ก็ต้องการเป็นฝ่ายบังคับบงการผู้อื่น อยู่ที่ว่าเราจะจัดอยู่ในกลุ่มใด ขึ้นอยู่กับกำลังต่อรองของเขาว่าอยู่ในตำแหน่งใด
ในชีวิตคนเราหนีไม่พ้น 3 ดราม่า หรือบทตัวละครชีวิตทั้งสามนี้ ไม่ว่าจะในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน ในสถานที่ทุกแห่ง เราจะได้พบกับ condition หรือเงื่อนไขที่เรียกว่า Drama Triangle อยู่รอบตัวเรา
หากสังเกตให้ดี คนทุกคนล้วนกำลังเล่นบทใดบทหนึ่งใน 3 บทนี้
1. ผู้ลงทัณฑ์ (Persecuter) “ก็เพราะแกนั่นแหละ ” ดุด่า ตำหนิ กล่าวโทษ ควบคุม วางตัวเหนือกว่า เป็นผู้มีอำนาจเหนือ เช่น เป็นพี่ เป็นเจ้านาย สั่งการลงโทษได้
2. ผู้ช่วยชีวิต ( Rescuer) “โชคดี ที่ฉันมาช่วยแล้ว” ปลอบโยน ห่วงใยดูแล เป็นฮีโร่ของผู้เคราะห์ร้าย เป็นการช่วยเหลือเพื่อสร้างเงื่อนไขในการควบคุม บังคับบัญชา
3. ผู้เคราะห์ร้าย (Victim) “เป็นเวรกรรม แต่อดีต” ถูกกระทำ สิ้นหวัง ได้แต่บ่น หมดหนทาง รับบทคนดีที่ถูกกระทำ แต่ลึกๆ ก็เพื่อการอยู่รอด บางรายจงใจทำตัวเป็นเหยื่อเสมือนผู้ถูกกระทำ แต่กลับชักใยบังคับบัญชาคนได้ ด้วยความจงใจหรือโดยไม่รู้ตัวก็ตาม
การเกิดเป็นมนุษย์เรามีสัญชาติญาณในการอยู่รอด ดังนั้น เราจะอยากควบคุมทุกอย่าง เพื่อให้สถานการณ์อยู่ในมือเรา เพื่อให้ตัวเราอยู่ใน position ที่มีอำนาจสั่งการและบังคับบงการ(Control) เช่น เจ้านาย มีอำนาจในการให้คุณ ให้โทษกับลูกน้องได้ ตัวเราก็จะรู้สึกว่าปลอดภัย
แต่ในโลกวัตถุ หรือ โลกบัญญัติ เราเองเป็นทั้งผู้เลือกว่าจะเล่นบทไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีกำลังต่อรองในลักษณะใด หรือบางทีก็ไม่ได้เลือก เพราะเกิดมาต้องรับบทนั้น เช่น เกิดเป็นลูกคนโต หรือทำงานในตำแหน่งหัวหน้า ย่อมมีลูกน้อง เราจึงอยู่ในฐานะของผู้ที่เหนือกว่า สามารถให้คุณให้โทษ กำหนดให้สิ่งต่างๆ เป็นไปได้ดังใจเราภายใต้บทบาทของผู้ลงทัณฑ์
แต่ในกรณีที่ไม่สามารถเป็นผู้ลงทัณฑ์ บางคนก็อาจจะหันมาเล่นบทบาทผู้ให้ความช่วยเหลือ ทำให้ตนเองมีบุญคุณ เป็นการช่วยเหลือแบบมีผลประโยชน์แอบแฝง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการบังคับและบงการผู้อื่น เป็นบทบาทของการ control ด้วยการใส่ใจ เป็นผู้ให้
แต่สำหรับบางคน ไม่สามารถเลือกบททั้งสองที่กล่าวมาแล้วได้ ก็ไปเลือกบทบาทที่ 3 เล่นบทเป็นเหยื่อ ผู้น่าสงสาร (ละครไทยในอดีต นางเอกมักจะอยู่ในบทบาทนี้) เป็นฝ่ายรักดีที่ถูกกระทำตลอดเวลา แต่การเล่นบทบาทนี้ก็ทำให้เอาตัวรอดได้เหมือนกันในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีบางคนจงใจเล่นบทบาทนี้ด้วยการสร้างสถานการณ์ขึ้นเอง เพื่อสร้างอำนาจทางอ้อมในการบังคับบงการชีวิตผู้อื่น
กรณีตัวอย่าง Drama Triangle ในชีวิตจริง
ในกรณีของคุณวิล สมิธ ที่ทะเลาะกับคุณคริส ร็อค สำหรับคุณคริส ร็อคนั้น เขามีหน้าที่สร้างความบันเทิงเฮฮา เขาเป็นผู้มีอำนาจในมือที่คิดจะล้อเลียนใครก็ได้ เขากำลังเล่นบทผู้ลงทัณฑ์ ที่ล้อเลียนคุณเจด้า ภรรยาของวิล สมิธ ว่าเป็นจีไอเจน ซึ่งนอกจากประเด็นที่เธอผมร่วงด้วยอาการป่วยแล้ว ยังมีคนวิเคราะห์ว่าแฝงนัยยะของการล้อเลียนถึงเดมี มัวร์ ซึ่งไม่นานมานี้แต่งงานกับชายที่อายุเด็กกว่ามาก จึงอาจทำให้คุณวิล สมิธ โกรธมากเหมือนถูกหยามเกียรติ
คุณเจด้า พิงเก็ตต์ สมิธ รับบทเป็นเหยื่อ ซึ่งจริง ๆ แอบแฝงความเป็น Narciscist อย่างแนบเนียน คือเป็นผู้บงการในคราบของความเป็นเหยื่อ
คุณวิล สมิธ เขาเล่นบทเป็นผู้ช่วยเหลือ เพื่อขึ้นมาเป็นผู้ลงทัณฑ์
พี่แก้มแหม่มชวนวิเคราะห์ว่าในกรณีของ วิลล์ สมิธ ที่เกิดขึ้นบนเวทีออสการ์ เขาวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งใด และกล่าวถึงคนที่มีปม Narcissist มักจะวางตัวเสมือนเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ โดยที่ตัวเขาทำอะไรก็ไม่ผิด(ที่ถูกมองว่าผิดเพราะเป็นการถูกปรักปรำจากคนโน้นคนนี้ คนที่สรวมบทของเหยื่อเคราะห์ร้ายนี้ เช่นนี้เป็นคนที่น่ากลัวมาก เพราะมักจะเป็นคนไม่มีกลไกของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มักมีพฤติกรรมของ ‘Gas Lighting’ (คล้ายพฤติกรรม ‘กระต่ายขาเดียว’) เหมือนเป็นคนที่ไม่มีหิริโอตัปปะ เพราะถ้าเทียบกัน 3 กลุ่ม “ผู้ลงฑัณฑ์” ที่มีอำนาจในการจัดการ มักเป็นกลุ่มหัวหน้างานที่ลูกน้องสามารถโต้แย้งได้ ส่วนผู้เล่นบท “ผู้ช่วยเหลือ” ที่สร้างบุญคุณให้คนอื่น ก็อาจจะทำให้เราอึดอัดได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เท่ากับคนที่ทำตัวเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะในสังคมไทย เราถูกสอนกันมาว่า การไม่ไห้ความช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า คือคนที่ไม่มีน้ำใจ การสอนมาว่าคนดี ต้องคอยช่วยเหลือและรับผิดชอบความสุขของคนอื่น เป็นจุดอ่อนประการสำคัญของสังคมไทย
ค่านิยมนี้สะท้อนให้เราได้เห็นในห้องประชุม ในสังคมตะวันตก การที่เรามีความเห็นไม่ตรงกันถือเป็นเรื่องปกติ แต่คนไทยมีจุดอ่อนเรื่องกลัวเสียเพื่อน หากมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะไม่แสดงออก เกรงว่าเดี๋ยวคนโน้นคนนี้จะไม่พอใจเรา เพราะเข้าใจว่าการเป็นคนดีต้องรับผิดชอบความรู้สึกคนอื่น เราจึงมักจะเข้าข้างผู้แพ้ เพื่อแสดงความเมตตา ใครที่อ่อนแอ ถูกรังแก แล้วเราต้องไปช่วยเขา โดยไม่ได้ใส่ใจข้อเท็จจริงถูกผิดหรือเความเหมาะสม และนั่นเท่ากับว่า เรากำลังทำร้ายเขาอยู่ เพียงเพราะเราต้องการให้สังคมเห็นว่าเราเป็นคนดี เราก็เล่นบทนี้ซ้อนทับเข้าไปอีก วิเคราะห์ลึกลงไปว่า การเข้าข้างคนเป็นเหยื่อเช่นนี้ ก็เป็นการรับใช้อัตตาของความเป็นคนดีของตัวเองอยู่ดี ซึ่งในความจริงคือไม่กล้าบริหารจัดการตามความถูกต้องอย่างถ้วนถี่ถูกทาง
สิ่งที่พระพุทธองค์สอนในพระไตรปิฎกนั้นมีทุกอย่าง ท่านสอนไว้หมด แต่การคัดเลือกหัวข้อธรรมที่นำมาสอน คัดมาเพียงบางส่วน เน้นหนักเรื่องของการทำบุญ ความเมตตา แต่ไม่ได้ให้พิจารณาเรื่องความถูกต้องเหมาะสมของกาลเทศะ
เมื่อเราต้องการสร้างบารมี ๑๐ หรือต้องการเป็นผู้บรรลุธรรม เราสามารถเปลี่ยนบทบาทได้ โดยวิธีการที่นำมาใช้จาก Drama Triangle นั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
หากเราต้องการเป็นผู้บรรลุธรรม หรือผู้สร้างบารมี 10 (ดังที่กล่าวไว้ใน Geeta Path บทที่ 12) เราสามารถเปลี่ยนบทบาทได้ นั่นคือวิธีการนำบทบาทมาใช้อย่างสร้างสรรค์และมีประโยชน์ เช่น
1. สวมบทผู้ท้าทาย (Challenger) ช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเอง เปลี่ยนจากเจ้านายที่ดุด่า ก็เป็นเจ้านายที่เปิดโอกาสให้ลูกน้องเรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยตนเอง บริหารจัดการด้วยการให้คำแนะนำ เทรนนิ่ง เพื่อทำให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้ หรือบางทีการให้โจทย์ยากเพื่อให้เขาได้ปลดล็อคและแสดงศักยภาพที่มีออกมาอย่างเต็มที่ ในบทนี้ “ผู้ลงฑัณฑ์” จะเปลี่ยนไปเป็น “ผู้ท้าทาย” (challenger) หรือเจ้านายที่สร้างลูกน้องให้เก่งขึ้นกว่าเดิม
2. สวมบทโค้ช (Coach) ส่งเสริม สนับสนุน โดยวิธีชี้แนะแนวทางว่าเขาสามารถหาข้อมูลเหล่านั้นได้ที่ไหน ให้คำแนะนำ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ป้อนให้ทุกสิ่ง แต่ส่งเสริมให้เขาทำด้วยตนเองเพื่อให้ภูมิใจในตนเอง ผู้ช่วยเหลือ ก็เปลี่ยนเป็นโค้ช ที่ช่วยให้ผู้ร่วมงานเก่งขึ้นได้
3. สรมบทผู้สร้างสรรค์ (Creator) คือส่วนผู้ที่รู้ตัวว่ากำลังสวมบทบาทของผู้เป็นเหยื่อ ชัดเจนในความต้องการ มีพลังในตัวเองเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ แทนที่จะเป็นเหยื่อที่คอยโทษชตากรรม ก็หันมารู้จักตัวเอง บริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ แม้จะเกิดมาเป็นผู้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ผู้เสียเปรียบ แต่ก็ไม่เสียเวลาของชีวิตด้วยการยอมจำนนจมปรักยอมเป็นเหยื่ออย่างหมดสภาพร่ำไป
ในที่นี้ การตกอยู่ในบทบาทเหยื่ออาจจะแบ่งบทบาทออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้เป็นเหยื่อที่ใช้บทนี้ เพื่อบริหารจัดการ เป็นการแฝงตัวเพื่ออยู่เหนือคนอื่นหรือเพื่อหลบภัย
2. ผู้เป็นเหยื่อที่มีทัศนคติเห็นตัวเองเป็นผู้น่าสงสาร ชีวิตจมปรักอยู่กับสงสารตัวเอง ”โลกนี้ไม่ยุติธรรม”
3. ผู้เป็นเหยื่อที่สู้ชีวิต เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อเลิกสงสารตัวเอง แต่มีความชัดเจนในทิศทางชีวิตแล้วสามารถบริหารจัดการด้วยการเป็นนักปรับตัว เป็นผู้มีความสันโดษ เป็นคนที่เพียงต้องการอยู่รอดเพื่อใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ ]
นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติ 3 ระดับของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ คือ เทพ(Sattvic) มนุษย์(Rajsic) เดรัจฉาน(Tamasic) ที่พี่แก้มแหม่มเคยสอนไว้ ให้เรานำมาพิจารณาประกอบกับแนวคิดเรื่อง Drama Triangle เราจะเกิดทักษะในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา คือ พลังงาน ประกอบด้วย “นาม” กับ “รูป” มีแรงสั่นสะเทือน ข้างในประกอบด้วย อะตอม นิวเคลียส ฯลฯ แต่เราทุกไปยึดติดในมายาภาพจากสังขารขันธ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการสะสมความคุ้นชินในสัญญาขันธ์ กลายเป็นเหตุปัจจัย ซึ่งนำไปแปรผลตามเจตสิกต่าง ๆ ของเรา ความคุ้นชินเหล่านี้ยังลงลึกไปถึงยีนและความทรงจำของเราด้วย
ถ้าเรามีความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ก็คงมองเห็นเป็นภาพนี้ ดังเช่น องคุลีมาล ถูกสอนว่าการฆ่าไม่บาป เพราะมีดที่แทงเข้าไปในเนื้อ เนื้อมีอากาศธาตุแทรกอยู่ ซึ่งก็จริง ไม่ผิด เพราะถ้าเราสามารถมองทุกอย่างในโลกเป็นเพียงวัตถุก็ไม่น่าจะมีปัญหายุ่งยากในชีวิตเรา แม้แต่ร่างกายเราก็ประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ มีจิตเป็นตัวรู้ ในพระพุทธศาสนา แบ่งตามบทบาทออกเป็น “จิต” กับ “เจตสิก” ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจาก “การติดข้อง” ในตัวตนของเราอย่างที่เราเห็นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ อย่างเช่น เจตสิกมีหลายตัว ที่ก่อให้เกิดความอิจฉา ริษยา ชื่นชม เปรียบเทียบ เศร้าโศก เสียใจ ฯลฯ เป็นบทบาทของเจตสิกทั้งสิ้น อย่างเช่นอาหารจานเดียวกัน บางคนรู้สึกว่าอร่อยมาก รสชาติกำลังดี อีกคนบอกว่าเผ็ดเกินไป พี่แก้มแหม่มยกตัวอย่างให้ฟังถึง เบญจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์ที่เกิดมาในหมู่บ้านชาวประมง ภายหลังเข้าเมืองมาเรียนในมหาวิทยาลัย อยู่มาวันหนึ่งเป็นไข้สูงมากนอนไม่หลับ ในที่สุด ต้องเอาเข็มขัดหนังเน่าๆ ที่ใช้อยู่ มากอดดมแล้วถึงหลับได้ เพราะเข็มขัดมีกลิ่นคาวเหมือนหมู่บ้านชาวประมง นี่เป็นเรื่องของ “ความทรงจำ” และ “ความเคยชิน” เมื่อป่วย เขาได้กลิ่นนั้น เขาจึงรู้สึกคุ้นเคยถึงบ้านแล้วจึงหลับได้ แต่ถ้าคนเมืองอย่างเราไปหมู่บ้านชาวประมง ไปได้กลิ่นปลาเค็ม ปลาหมึกตากแห้งอยู่ เราคงนอนไม่หลับ ทั้งที่เราก็มีประสาทรับรู้เหมือนกัน แต่ความคุ้นชินทำให้ของมีการแปลผลไม่เหมือนกัน เกิดจากข้อมูลใน Data Bank ที่สะสมจากประสบการณ์ และความเคยชิน ทำให้เจตสิกของเราแปลผลไม่เหมือนกัน สะสมไปถึงเรื่อง gene เป็นข้อมูลความทรงจำ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่ เป็นฮอร์โมนต่าง ๆ รวมถึงปัจจัยองค์ประกอบอื่นของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดการติดข้อง (attachment)ตามมา และกลายเป็นเครื่องจองจำเราขณะใดที่เรารู้ไม่เท่าทัน
มีคำกล่าวว่า ถ้าต้องการบรรลุธรรม ต้องปล่อยวาง หลุดพ้นจากการติดข้อง ก็ทำให้คนที่อยากบรรลุธรรม ไม่กล้ามีความรัก ไม่กล้ารักลูก ไม่กล้ารักแฟน ไม่กล้ารักสามี จริงๆ แล้ว “ความรัก” กับ “ความติดข้อง” นั้นคนละเรื่องกัน ดังนั้น หากคนเรามีความรู้ที่ถูกต้อง ได้รับการปลูกฝังว่าทุกอย่างในโลกบัญญัติอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คนเราสามารถรักได้โดยไม่ติดข้อง ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเหมือนที่เราคาดหวัง เราจะทุกข์น้อยลง และเราจะเลือกใช้ชีวิตให้ทุกทิวาราตรีของชีวิตเกิดประโยชน์ ให้มีความสุขความเจริญด้วยกุศลกรรมให้มากที่สุด เพื่อการบรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิต
อย่างในคริสตศาสนาจะกล่าวถึงความรักความเมตตาอย่างยิ่ง อันที่จริงแล้วรักนั้นรักได้ แต่รักโดยไม่ติดข้อง การกระทำอยู่ในมือเราแต่ผลนั้นไม่สามารถคาดหวังให้อยู่ในการบังคับบงการได้ ทุกอย่างของโลกบัญญัติล้วนอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ สิ่งเหล่านี้เราอาจรู้ด้วยปัญญาแต่เราก็ยังต้องฝึกฝน สะสมให้เป็นเหตุปัจจัยที่เสริมสร้างให้เรามีสติรู้เท่าทันธรรมะต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏได้ แม้เราจะมีปัญญา มีความรู้ แต่เราก็ยังต้องสะสมการฝึกฝน เพราะ Data Bank ของเรายังคงสื่อสารกับเราในรูปของฮอร์โมน โดยเฉพาะ ฮอร์โมนโดพามีนที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราอยู่รอด ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันเราจะเป็นเหยื่อของอฮอร์โมนเหล่านี้ ซึ่งมีบทบาทต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สะสมใน data bank ของเรามีมากขนาดไหน
บทบาทของ Happy Hormones ต่าง ๆ
1. Dopamine เป็น Neurotransmitter ประเภทหนึ่ง ที่สื่อสารระหว่างเซลประสาท บทบาทในการคิดและวางแผน และการรู้สึกยินดีมีความสุข เสริมสมาธิ ความมุ่งมั่น จดจ่อ และสรรหาสิ่งน่าพึงพอใจ
2. Oxytocin มักถูกเรียกว่า Love Hormone มีบทบาทในการสร้างความรักความผูกพัน และกลไกของการสืบพันธ์ุและให้น้ำนม สร้างขึ้นจากต่อม Hypothylamus และต่อม Pituitary ปล่อยสู่ระบบกระแสเลือด เมื่อมีการสัมผัส เสียงดนตรี และออกกำลังกาย
3. Serotonin มีบทบาทเป็น Neurotransmitter ที่สื่อสารระหว่างเซลประสาท อารมณ์ความรู้สึก ความอยากอาหาร การย่อย การนอนหลับ และการสร้าง Melatonin
4. Endorphin สารแห่งความสุข ผลิตจากต่อมใต้สมอง Pituitary เพราะผ่อนคลายจากการออกกำลังกาย
และสารระงับปวด
การเติมเต็ม Happy Hormones ด้วยธรรมะ
1 Dopamine จากการได้รับธรรมะ
2 Oxytocin จากการให้ธรรมะ
3 Serotonin จากการมีจิตที่สงบเย็น Slow Down
4 Endorphin จากการออกกำลังกาย มีความสุข ร่าเริง ชีวิตชีวา
ความปรารถนา 6 อย่าง ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเรา ได้แก่
1. ความมั่นคงถาวร
2. ความหลากหลาย
3. ความมีตัวตนในสังคม
4. ความรักและความผูกพัน
5. การเจริญเติบโต และ
6. การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
ยกตัวอย่างเรื่องภาพสะท้อนในกระจกมาให้เราพิจารณา
กระจกส่องเงาแห่งอัตตา
เราอยากให้ตัวเองเป็นอย่างไรในภาพลักษณ์ที่มีต่อตัวเอง นั้นเป็นความโลภอย่างหนึ่งแล้ว ตัวแปรคือเราอยากเห็นตัวเองเป็นเช่นนี้ หรือเราอยากให้คนอื่นเห็นเราเป็นเช่นนี้ กับ คนอื่นเห็นตัวเราเป็นอย่างไร ไม่ได้มีผลใด ๆ กับเรา เราก็พอใจในตัวเองแล้ว กรณีอย่างหลังนี้ไม่เป็นทาสสิ่งใด แต่ถ้าเราพยายามเล่นบทบาทเพื่อให้คนอื่นเห็นคนที่เราอยากให้เขาคิดกับเราในภาพพจน์ที่ต้องการ เราก็จะไม่หลุดพ้น เราก็ไม่มีวันเป็นอิสระ
Law of Attraction แรงดึงดูดที่เราใฝ่ใจกับการดำรงตนเป็นคน ๆ หนึ่ง จึงแสวงหาสิ่งนั้น พร้อมกับมีแรงดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามา เช่น เรามองว่าตัวเองเป็นนักกีตาร์ระดับโลก ก็จะนอนหลับฝันถึงกีตาร์ ตื่นก็ใฝ่ใจอยู่กับการเล่นกีต้าร์ แล้วสิ่งต่าง ๆ ก็ถูกดึงดูดมาในเรื่องนี้
เวลาเรามองตัวเองในกระจก เรากำลังเห็นตัวเราในจินตนาการด้วยสายตาของเรา หรือ เห็นตัวเราในจินตนาการด้วยสายตาของคนอื่น ถ้าเรามองเห็นตัวเองด้วยสายตาของเรา เราก็จะหลุดจากการเป็นจำเลยสังคมที่จองจำเราอยู่ด้วยโซ่ตรวนของความคาดหวังที่มองไม่เห็น เราจะเป็นผู้มี”การเจริญก้าวหน้า”เป็นสุดยอดความปรารถนา (ซึ่งเป็นความติดข้องในระดับจิตวิญญาณ ก็จะมีแต่ความสุขมากหรือสุขน้อยเท่านั้น) เปรียบเทียบกับผู้ที่จินตนาการภาพในสายตาของคนอื่น เราก็อาจกำลังเลือก “การมีตัวตนในสังคม” เป็นสุดยอดความปรารถนา (ซึ่งเป็นความติดข้องระดับโลกียะวัตถุ ซึ่งไม่ว่าจะประสพความสำเร็จอย่างไร ก็หนีไม่พ้นเป็นความสุขที่ต้องคละเคล้ากับความทุกข์)
สนทนาในห้องเรียน
คุณแป๋ว สอบถามเรื่อง การที่เราเป็นทาสของความคิด คือการที่เราติดยึดกับภาพของตัวเอง เป็นความโลภใช่หรือไม่
พี่แก้มแหม่ม มันคือความโลภ แต่ไม่ใช่ว่าความโลภทุกอย่างไม่ดี บางคนโลภที่จะบรรลุธรรม ถือว่าเป็นความโลภที่ดี แต่เวลาที่เราอยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไร มีตัวแปรก็คือ เราอยากเห็นตัวเราเป็นอย่างนี้ หรือ อยากให้คนอื่นเห็นเราเป็นแบบนี้ สองมุมมองนี้ต่างกัน เช่น ถ้าเราอยากเห็นตัวเองเป็นนักร้องดังอย่าง Julie Andrew แล้วเราก็จะพยายามพัฒนาตัวเอง ใกล้เคียงได้เท่าไหร่ก็พอใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะนั่นเกิดจากมุมมองของเราเอง เรามีความสุขกับพัฒนาการของเรา) แต่ถ้าเราคาดหวังให้คนอื่นเห็นเราเป็น Julie Andrew เราก็ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เราจะพยายาม acting เลียนแบบเป็น Julie Andrew เพื่อให้เป็นคนอื่นเห็นเราเป็นคนๆ นั้น เราก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันสักที (เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นซึ่งแต่ละสายตาต้องอยู่ภายใต้เหตุปัจจัยใน data bank ของเขาอีกมากมาย)
เจี๊ยบ : สงสัยว่าในกรณีที่เราเห็นตัวเอง เป็น Julie Andrew นั่นกลายเป็นว่าเราเป็น Narcissist หรือไม่
พี่แก้มแหม่ม : ให้ทำความเข้าใจกับสองคำนี้ คือ “หลงตัวเอง” กับ “คลั่งตัวเอง” ในภาษาไทยฟังดูแล้วให้ความหมายต่างกัน คำว่า Narciscist นั้นคือคลั่งตัวเอง เป็นสร้างภาพการมองตัวเองแล้วมองว่าคนอื่นจะมองเห็นเราอย่างที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ โดยตัวจริงไปไม่ถึงเพราะติดอยู่กับการสร้างภาพ จึงทำตัวเป็นจำเลยของสังคม เป็นพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาโลกแตกไม่มีทางรักษา เพราะเขาต้องการควบคุมโลก และไม่ต้องการได้รับการรักษา ในสมองของบุคคลเหล่านี้จะไม่มีกลไกของความเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกทุกข์กายทุกข์ใจในคนอื่น แต่ถ้าเขามีปัญหาทุกคนต้องเห็นใจเขา ซึ่งบางครั้งเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองต้องการอะไร Narcissist มีอีกชื่อเรียกหนึ่งที่ใช้กันในวงการ คือ “Energy Vampire” คือผู้ดูดพลังจากคนอื่น คือยิ่งทำให้คนอื่นมีสภาพหมดความนับถือตัวเอง(ตายซากไป)ได้เท่าไร ตัวเองยิ่งสุขสมเท่านั้น คนที่เจอบุคคลประเภทนี้หากสามารถผ่านการบดขยี้จากสภาวะที่ต้องเจอคนลักษณะนี้ โดยเฉพาะเป็นคนในครอบครัว หากว่าผ่านบทเรียนนี้ได้โดยไม่เสียคน ก็มักเป็นผู้สามารถเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง หรืออาจถึงขั้นบรรลุธรรมได้
โดยสรุป เมื่อเราทำหน้าที่ต่าง ๆ โดยไม่ติดยึดในบทบาทใด ๆ การกระทำนั้นคือกุศลธรรมโดยแท้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุ ปัจจัย ทำให้เกิดวิบากที่เราต้องมาเจอ โดยลำพังตัววิบากเองนั้นไม่มีกุศล และอกุศล แต่สิ่งที่เราสั่งสมมานั้นต่างหากที่จะพาเราลงมือกระทำให้เป็นกุศล อกุศล ซึ่งจะส่งผลต่อวงจรกุศล อกุศลต่อไปในอนาคต
แต่ในกรณีนี้ ให้เราตัดเรื่อง“Narcissist” ออกไปก่อน พี่แก้มแหม่มยกตัวอย่างเรื่องกระจกให้ฟัง สืบเนื่องจากประเด็นเรื่อง Law of Attraction การที่เราจินตนาการว่าเราเป็นใคร แล้วจักรวาลก็จัดสรรสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น จริงๆ แล้วมนุษย์เรามีกลไกในสมองที่เรียกว่า RAS ที่มีบทบาทคอยช่วยเราไปถึงฝั่งฝันได้ เรามีกระบวนนี้อยู่ในสมอง ที่เราป้อนความปรารถนาเข้าไป มันจะไปจัดการให้ตามที่ปรารถนา นี่คือ Law of Attraction เราจินตนาการว่าตัวเองเป็นอย่างไร มันก็จะเกิดขึ้นอย่างนั้น ถ้าเรามองเห็นตัวเองในกระจกว่าเป็นคนเก่ง คนประสบความสำเร็จ ไม่นานเราจะไปถึงจุดนั้นได้
[หมายเหตุ: RAS (Reticular Activation System) was first introduced by Anthony Robbins. The RAS is a filter that’s applied to the staggering amount of data that gets picked up by your five senses. …It is, in fact, the only thing keeping you from being overwhelmed by the 2 billion bits of information passing through your sensory organs each second.
The RAS essentially “decides for you” exactly what you will consciously give your attention to at any given moment. It then filters out the remaining data and transfers it over to the inner Mind. It’s somewhat of a reference collector that directs your focus and shapes your beliefs.
It provides the major pathology for being in the ‘flow state.’ …When you set a goal, you communicate to your RAS that anything associated with that goal is important to you. Your RAS then goes to work bringing to your attention anything associated with that goal. (Mastermindmatrix.com)]
แต่เวลาส่องกระจก คนส่วนใหญ่มักจะมองตัวเองด้วยสายตาของคนอื่น ซึ่งนี่เป็นการซ้อนทับบางๆ ที่เราไม่ได้แยกแยะตัวเอง แล้วนี่แหละที่ทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาว บางคนสร้างภาพโดยไม่รู้ตัว แทนที่จะมุ่งหน้าไปให้ถึงดวงดาว กลับมัวแต่สร้างภาพ ทำให้ตัวจริงไปไม่ถึง สุดท้าย ตกเป็นจำเลยสังคม ให้คนในสังคมพิพากษาเราว่าดีพอมั้ย เก่งพอมั้ย สงสัยแต่ว่าคนอื่นมองเราอย่างไร แต่ถ้าเราเห็นว่าตัวเองเป็นนักกีตาร์ที่เก่งระดับโลก หลับก็เห็นภาพตัวเองเล่นกีตาร์เก่ง ตื่นก็อยากฝึกฝน เราย่อมไปถึงดวงดาวได้ โดยไม่ต้องให้สังคมหรือใครมาบอกเราเลย
การยกเรื่องภาพสะท้อนในกระจกมาให้ดูเพื่อเป็นเครื่องมือในการสะท้อนตนเอง ส่วนเรื่อง Drama Triangle ทำให้เราปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง และง่ายขึ้น เพราะการเป็นคนดี ต้องมีทักษะ ปัญญา ความรู้ เราจึงมีความสามารถเป็นคนดีได้อย่างทรงพลัง
คุณณัฐ กล่าวชื่นชมวิธีตั้งคำถามของคุณแป๋วที่มีความลึกซึ้ง ทำให้ผู้ฟังได้เปิดมุมมองพิจารณาธรรมอย่างลึกซึ้งขึ้น
พี่แก้มแหม่มยกเรื่องเมื่อครั้งพุทธกาล พราหมณ์ท่านหนึ่ง จะไปกราบพระพุทธเจ้า คิดว่าการไปหาครูบาอาจารย์ควรมีของติดมือไปเป็นเครื่องบรรณาการ ก็เลยคิดได้ว่าจะนำคำถามไปถาม เพราะคำถามคือเครื่องบรรณาการที่ดีที่สุด ดังนั้น คำถาม จึงถือว่าเป็นเครื่องบูชาครูที่ทรงคุณค่ายิ่ง มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ปิดท้ายด้วยเรื่องของวิบากกรรม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ล้วนแล้วแต่เป็นวิบากทั้งสิ้น แต่ทุกวิบากทำให้เราเจริญก้าวหน้า หากเราสามารถผ่านโจทย์แต่ละข้อที่เข้ามาในชีวิต สามารถแก้โจทย์ด้วยกุศลกรรมก็จะให้เราเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเราพร่ำบ่น เท่ากับสอบไม่ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาย่อมเป็นอกุศลกรรม
วันนี้มีการแชร์ประสบการณ์จากผู้ร่วมเรียนรู้ ในการเจอวิบากที่ผลักดันให้จำเป็นต้องลงมือทำเองในสิ่งที่ไม่ถนัด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้กลับทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ได้เกิดก้าวแรกของความสำเร็จและพัฒนาการจากการลงมือทำเอง เกิดความรู้สึกขอบคุณ ซาบซึ้งในสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ ด้วย จากปัญหานั้นเป็นวิบากที่เป็นโจทย์ให้เราก้าวหน้า เป็นโอกาสที่ให้เราสร้างกุศลกรรมมากขึ้น ๆ แต่หากเราเจอวิบากนั้นแล้วพร่ำบ่น ก็จะกลายเป็นอกุศลกรรม